เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา (ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้อเกาะยาวน้อยนี้มีด้วยกันทั้งหมด 4 หน้า ท่านสามารถ click link ตัวเลขที่ด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
ในยุคสมัยโลกาภิวัตน์ที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สังคมเต็มเปี่ยมไปด้วยความวุ่นวาย แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น จนหาความสงบสุขได้ลำบากดังเช่นในทุกวันนี้ ยังมีเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในฝั่งทะเลอันดามัน จ.พังงา ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงรักษารูปแบบวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมประเพณีสมัยปู่ย่าตายายเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ส่งผลให้ ณ ที่แห่งนี้ วิถีชุมชนอันเรียบง่าย ความสงบสุข รอยยิ้มและน้ำใจไมตรี เป็นสิ่งซึ่งสามารถพบเจอได้ง่าย ๆ จนกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ตัดสินใจเดินทางมาเยือนเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้
“เกาะยาวน้อย” อ.เกาะยาว จ.พังงา ประเทศไทย คือ เกาะเล็ก ๆแห่งหนึ่งในฝั่งทะเลอันดามันซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัด ส่วนมากประกอบอาชีพทำสวนยาง สวนมะพร้าว ปลูกข้าว ทำปศุสัตว์ เลี้ยงกุ้งมังกร – ปลาในกระชัง และทำประมงเป็นหลัก วิถีชีวิตอันเรียบง่ายงดงามของชาวบ้านเหล่านี้เองที่เป็นสิ่งซึ่งทำให้เกาะยาวน้อยกลายเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอนุรักษ์แห่งสำคัญของ จ.พังงา นอกจากนั้นแล้วบนเกาะยาวน้อยยังมีชายหาดที่เงียบสงบ แม้ว่าหาดทรายจะไม่ได้ขาวนวลเนียนนุ่มเท้า หรือน้ำทะเลอาจจะไม่ได้ใสแจ๋วมากมายนัก แต่นักท่องเที่ยวผู้ซึ่งต้องการปล่อยอารมณ์เรื่อย ๆ เอื่อย ๆ เล่นน้ำอาบแดดในบรรยากาศที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัวสักหน่อยก็ยังคงยินดีที่จะเดินทางมาพักผ่อนบนชายหาดอันห่างไกลจากความสับสนวุ่นวายเหล่านี้
|
ท่าเรือบางโรงซึ่งเชื่อมต่อระหว่าง จ.ภูเก็ต และหมู่เกาะยาว จ.พังงา |
ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) ได้มีโอกาสเดินทางมาเก็บข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ บนเกาะยาวน้อยเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 โดยทีมงานของเราเลือกตั้งต้นการเดินทางจาก “ท่าเรือบางโรง” จ.ภูเก็ต ค่าโดยสารเรือเที่ยวเดียวคนละ 120 บาท ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชม. – 1 ชม. 15 นาที ก็มาถึง “ท่าเรือมะเนาะห์” บนเกาะยาวน้อย การเดินทางมายังท่าเรือมะเนาะห์นี้นอกเหนือไปจากการเลือกโดยสารเรือจาก “ท่าเรือบางโรง” จ.ภูเก็ตแล้ว คุณยังอาจจะเลือกโดยสารเรือมาจาก “ท่าเรือท่าด่านศุลกากร (ท่าเรือท่าด่านฯ)” จ.พังงา , “ท่าเรือท่าเลน” จ.กระบี่ หรือหากมาเกาะยาวใหญ่แล้วอยากจะแวะเที่ยวต่อที่เกาะยาวน้อยก็เลือกไปขึ้นเรือ ณ “ท่าเรือคลองเหียะ” บนเกาะยาวใหญ่ก็ได้ (สำหรับรายละเอียดวิธีการต่าง ๆในการเดินทางมายังเกาะยาวน้อยนั้น ทีมงานได้สรุปไว้พอสังเขปในหัวข้อ “การเดินทาง” ซึ่งอยู่ในหน้าสุดท้ายของบทความเกาะยาวน้อยแล้วครับ) ในช่วงฤดูท่องเที่ยว (ประมาณกลางเดือน พ.ย. – ปลายเดือน เม.ย.) บริเวณท่าเรือมะเนาห์ เกาะยาวน้อยนี้จะมีรถสองแถวและรถจักรยานยนต์รับจ้างมาคอยรอรับนักท่องเที่ยวไปส่งยังสถานที่ต่าง ๆ บนเกาะ หากใครสามารถขับขี่จักรยานยนต์ได้ก็อาจจะเลือกเช่าจักรยานยนต์เป็นรายวันแล้วขี่เที่ยวรอบเกาะเองก็ได้ ค่าเช่าตกอยู่ที่ประมาณวันละ 200 – 250 บาท (ไม่รวมค่าน้ำมัน) ส่วนคนที่เดินทางมาเป็นหมู่คณะก็สามารถติดต่อเหมารถสองแถวเที่ยวรอบเกาะได้เช่นกัน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณวันละ 800 – 1,000 บาท สำหรับผู้ซึ่งไม่ได้ติดต่อจองที่พักบนเกาะยาวน้อยล่วงหน้ามาก่อนให้ลองสอบถามข้อมูลกับเจ้าของรถสองแถวหรือเจ้าของรถจักรยานยนต์รับจ้างดู หลายครั้งเจ้าของรถเหล่านี้จะแนะนำที่พักให้พร้อมทั้งช่วยขับรถไปส่ง (ต้องจ่ายค่ารถตามระยะทางให้เจ้าของรถด้วยนะครับ)
|
วิถีชุมชนอันเรียบง่าย งดงาม บนเกาะยาวน้อย |
|
ป่าชายเลนบริเวณบ้านท่าค่าย ,ชาวบ้านกำลังตากปลาแห้ง และฝูงควายในนาข้าว เรียงตามลำดับ |
|
อีกมุมหนึ่งกับบรรยากาศป่าชายเลน และควายในสวนมะพร้าว (เลี้ยงเอาไว้เก็บมะพร้าว!?) |
บนเกาะยาวน้อยมีรูปแบบการท่องเที่ยวหลัก ๆ ที่นักท่องเที่ยวนิยมอยู่ 3 รูปแบบ คือ
1.ท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตชุมชน อาจเลือกติดต่อโปรแกรมท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์มาก่อนล่วงหน้า หรืออาจจะเลือกเที่ยวชมอย่างอิสระด้วยการเช่าเหมารถสองแถว/จักรยานยนต์ก็ได้ วิถีชุมชนซึ่งสามารถพบเห็นอยู่โดยรอบเกาะยาวน้อยและนักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชม ได้แก่
“การทำสวนยางพารา” เป็นอาชีพหลักอย่างหนึ่งของชาวเกาะยาวน้อย หากนักท่องเที่ยวต้องการชมการกรีดยางต้องตื่นตั้งแต่ช่วงตี 3 – ตี 4 แล้วออกไปที่สวนพร้อมกับชาวบ้าน ต้นยางที่ปลูกไว้จะสามารถเริ่มกรีดน้ำยางได้หลังจากเริ่มปลูกเร็วที่สุดเมื่อต้นยางอายุประมาณ 5 ปีขึ้นไป (แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มกรีดยางเมื่อต้นยางมีอายุ 7 ปีขึ้นไป) การกรีดยางนั้นสามารถกรีดได้ตลอดทั้งปียกเว้นช่วงวันที่มีฝนตกเพราะน้ำฝนจะทำให้หน้ายางเสีย (ในช่วงฤดูฝนจึงไม่นิยมกรีดยาง) และในช่วงฤดูร้อนที่อากาศแล้งมาก ๆ ก็จะไม่นิยมกรีดยางเนื่องจากจะได้น้ำยางน้อย นอกจากนั้นในช่วงที่ต้นยางมีการผลัดใบชาวบ้านก็จะงดการกรีดยางด้วยเพื่อให้ต้นยางได้มีช่วงเวลาพัก สำหรับการทำยางแผ่นนั้นมักจะทำในช่วงเช้า – สายโดยจะนำน้ำยางที่กรีดได้มาเทรวมกันใส่ถังพักไว้ประมาณ 1 ชม. เติมน้ำยาเคมีเพื่อทำให้น้ำยางจับตัวกัน จากนั้นนำมาเทใส่ถาดแล้วพักไว้ประมาณ 30 นาที นำยางที่ขึ้นรูปแล้วมารีดเป็นยางแผ่น สุดท้ายจึงนำยางแผ่นมาตากผึ่งลมไว้ หากนักท่องเที่ยวต้องการเพียงแค่ชมสวนยางโดยไม่ต้องการชมการกรีดยางหรือรีดยางแผ่นก็สามารถแวะไปชมได้เองตลอดช่วงเวลากลางวัน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะอนุญาตให้เดินเข้าไปชมสวนยางได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ปัจจุบันโปรแกรมทัวร์เกาะยาวน้อยส่วนใหญ่จะไม่รวมการพาไปกรีดยางในช่วงเช้าตรู่เนื่องจากเป็นกิจกรรมซึ่งไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว แต่มักจะนิยมพานักท่องเที่ยวไปชมสวนยางในช่วงสาย – บ่าย พร้อมทั้งอธิบายกระบวนการกรีดน้ำยาง - ผลิตยางแผ่นแทน
|
อุปกรณ์ทำยางแผ่นซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามสวนยางพาราบนเกาะยาวน้อย |
|
เส้นทางสวนยางอันสวยงามรอบ ๆเกาะ |
|
เครื่องรีดยางแผ่น ,กระบอกรองน้ำยางซึ่งมีน้ำยางสดอยู่เกือบเต็ม ,ยางแผ่น และถังเก็บ/หมักน้ำยาง |
“การทำประมง” นอกจากการทำสวนยางพาราแล้ว การทำประมงยังเป็นอาชีพหลักอีกอย่างหนึ่งซึ่งสร้างรายได้และเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้านบนเกาะยาวน้อย ระหว่างทางที่นั่งรถท่องเที่ยวไปรอบ ๆเกาะคุณจะสามารถพบเห็นเรือหัวโทงซึ่งชาวบ้านใช้ในการทำประมงจอดเรียงรายอยู่ตามชายหาดต่าง ๆโดยเฉพาะบริเวณ “หาดแหลมไทร” ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมง หรือบางครั้งก็อาจจะได้เห็นชาวบ้านกำลังช่วยกันเก็บปลาแห้งซึ่งตากเอาไว้เต็มลานอยู่ หากคุณเลือกซื้อโปรแกรมทัวร์ไปเที่ยวหมู่เกาะต่าง ๆ รอบเกาะยาวน้อยโดยเรือหัวโทงของชาวบ้านล่ะก็อาจจะมีโอกาสได้แวะดูอวนปูอวนกุ้งที่วางเอาไว้กลางทะเล หรือหากโชคดีกว่านั้นก็อาจจะได้ช่วยกู้อวนขึ้นจากน้ำระหว่างเดินทางกลับสู่เกาะยาวน้อยในช่วงที่โปรแกรมทัวร์จบแล้วด้วย (ส่วนใหญ่จะมีการกู้อวนปูประมาณเดือนละ 20 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพกระแสน้ำ)
|